International Women’s Day วันสตรีสากล ที่ต้องระลึกถึง
วันสตรีสากล เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ถูกระบุอยู่ในปฏิทินของทุกประเทศ ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี โดยจะเป็นวันที่มีความหมายถึงสตรีทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม
ที่มาของ 8 มีนาคม วันสตรีสากล ?
หลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งที่ทำให้กลายเป็นวันสำคัญต่อผู้หญิง หรือสตรี
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2400 จุดกำเนิดวันสตรีสากล เป็นเรื่องราวของกรรมกรหญิงที่โรงงานทอผ้า ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เกิดการรประท้วงการเพิ่มค่าจ้างจากนายจ้าง และมีการเรียกร้องสิทธิความเป็นสตรี และด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้มีสตรีกว่า 119 คน ต้องเสียชีวิต จากการลอบวางเพลิงเผาโรงงาน ในขณะที่กรรมกรหญิงกลุ่มนี้กำลังนั่งชุมนุมกัน
จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากสาเหตุที่ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก เลยทำให้เหล่าสตรีทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส
“คลาร่า เซทคิน” (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ได้ปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 จากความอัดอั้นตันใจ พร้อมเรียกร้องให้ทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมงจากนายจ้าง และยังขอปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง พร้อมทำให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่การเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม
และต่อมา ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีการเดินขบวนของเหล่าสตรี เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี
ครั้งสุดท้ายของ วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ด้วยความพยายามที่ผ่านมาของกลุ่มกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากตัวแทนสตุรีจาก 17 ประเทศ ได้มีการประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ
1.ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน
2.ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย
3.ยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก
และได้มีการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล
ความสำคัญวันสตรีสากล
จากที่มาดังกล่าว ของเรื่องราวเหล่าสตรี ที่ออกมาแสดงความถูกต้องในความเป็นสตรีของพวกเขา ก็ทำให้เกิดวันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลาย ๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลองวันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง และเราควรให้ความสำคัญกับวันสตรีสากล กับเรื่องราวที่ผ่านมา เพื่อความเท่าเทียมของสตรีที่เขาเสียสละ