Digital Trends 2021 ของประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล (Digital) ของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการเกิดขึ้นของเทรนด์ในเดือนเดียวก็สามารถส่งผลกระทบต่อการทำการตลาดหรือการโฆษณาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักการตลาด การปรับตัวตามกระแสเทรนด์ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำการตลาดออนไลน์ จึงเกิดบทความนี้มาสรุปกระแสเทรนด์ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมปี 2020 นี้รวมถึงการปรับตัวของ Digital Marketing ให้นักการตลาดออนไลน์ได้อ่านกัน


1.เทรนด์การใช้โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟนของคนไทย

การใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่ไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามคนไทยกว่า 52 ล้านคนใช้งานอินเทอร์เน็ต (Internet) และโซเชียลมีเดีย (Social Media) เข้าใช้งานด้วยมือถือหรือสมาร์ทโฟน คิดเป็น 97%* ของผู้ใช้งานทั้งหมด โดยเฉลี่ยอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือนั้นอยู่ที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน

คนไทยมีการเข้าใช้งานเว็บไซต์เพื่ออ่านข้อมูลด้วยมือถือมีอัตราที่ลงลดอย่างชัดเจน แต่หากมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการอ่านข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์นั้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงานและสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเหตุผลที่คนไทยหลายคนหันมาอ่านข่าวหรือข้อมูลบนเว็บด้วยคอมพิวเตอร์ (ทั้ง Laptop และ PC) หรือเดสก์ท็อป (Desktop) ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ที่สามารถอ่านง่ายและถนอมสายตามากขึ้น


2.เทรนด์การเข้าใช้งานเว็บไซต์ของคนไทย

อันดับหนึ่งของเว็บไซต์ที่มีคนไทยเข้าใช้งานมากที่สุด คือ Google.com ใช้เป็น search engine ในการค้นหาข้อมูลหรือเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์อื่นเป็นหลัก รองลงมาเป็นโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, YouTube, Pantip และ LINE ตามลำดับ ซึ่งอันดับเหล่านี้มักมีผลต่อการทำการตลาดออนไลน์ ในลักษณะเป็นการทำ Ads ในแต่ละช่องทาง เช่น Google จะมีวิธีโฆษณาหรือโปรโมทแบบ Paid Search ในลักษณะใช้คำในการค้นหาหรือคีย์เวิร์ด (Keyword) อาจจะจ่ายค่าโฆษณาเป็นต่อคลิก เป็นต้น


3.เทรนด์การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในประเทศไทย

การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน และใช้โซเชียลมีเดียเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน โดยเฉลี่ยเกือบ 3 ชั่วโมงต่อวันเทียบเท่าการใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ (TV Television) ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันนักการตลาดมีการปรับเปลี่ยนมาเล่นการโฆษณา/โปรโมทสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แม้กระทั่งรายการโทรทัศน์หลายรายการยังมีการปรับตัวโดยใช้โซเชียลมีเดียมาถ่ายทอดสดรายการต่างๆ เช่น Facebook Live, YouTube Live เป็นต้น

โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการโฆษณาหรือการทำการตลาดออนไลน์ด้วย Facebook Page หรือ Facebook Live หรือทำ Facebook As โดยอาจจะใส่ลิงก์ขายสินค้าหรือบริการใน comment ไว้ให้ผู้ที่สนใจไปตามซื้อ สามารถสร้างมูลค่าและรายได้ให้คุณได้นั่นเอง


4.เทรนด์การใช้งาน Video Platform

เทรนด์การเข้าชมวิดีโอของคนไทยที่เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต 53% ใช้เพื่อดูวิดีโอในรูปแบบของ Vlogs ที่เป็นที่นิยมในการดูรีวิวการท่องเที่ยวหรือคอนเทนต์อื่นๆ และอันดับการค้นหาใน Video Platform อย่าง Youtube มีคำว่า เพลง, หนัง, ผี, การ์ตูน และแตงโม ตามลำดับแสดงให้เห็นถึงการเข้าฟังเพลงใน YouTube เป็นหลัก แม้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่บางครั้งมีโฆษณาแทรกเยอะ โดยมักจะเฉลี่ยตามยอด View ของวิดีโอนั้นๆ และอย่างที่หลายคนทราบกันดีคือ YouTube ได้เริ่มการสร้างรายได้ในรูปแบบ Subscription Revenue จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้ไม่มีโฆษณาแทรกหรือที่เรียกว่า YouTube Premium ทั้งในส่วนของ Video Streaming และ Music Streaming


5.เทรนด์การใช้ Listening Streaming Platform (e,g. Online Radio, Music Streaming, and Podcasts)

รูปแบบการฟังของคนไทยในอดีต มักจะฟังข่าวสารและความบันเทิง เพลง ผ่านทางวิทยุ โดยมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนการฟังมาในรูปแบบวิทยุออนไลน์ที่สามารถฟังในแอพพลิเคชั่นหรือบนเว็บไซต์ได้ จะเห็นได้ว่าคนไม่ได้เลิกฟัง เพียงแต่รูปแบบ (format) การฟังหรือเครื่องมือสำหรับใช้ฟังต่างหากที่มีการเปลี่ยนแปลง ให้มี Usability เข้ากับการใช้งานของผู้ใช้ให้มีความทันสมัย สะดวกและเข้าใช้งานง่ายมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของแอพพลิเคชั่นสำหรับฟังเพลง (Music Streaming) เช่น Spotify, JOOX, YouTube Music เป็นต้น ซึ่งทำให้ความสะดวกของผู้ใช้เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฟังเพลงของคนไทยอยู่ที่ 68% อีกทั้งการฟังวิทยุออนไลน์อยู่ที่ 52% เพราะแค่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถฟังเพลงหรือข่าวสารได้ ไม่ต้องหอบวิทยุหรือเตรียมเครื่องเล่น CD เพลงใดๆ ในการใช้ฟังเพลงหรือข่าวสาร พูดอย่างง่ายๆคือ โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง ใช้งานครบทุกอย่างได้ในเครื่องเดียว

ปัจจุบันรูปแบบของ Listening Streaming ที่มาแรงที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฟังเพิ่มสูงถึง 44% เป็นแบบไหนไม่ได้นอกจาก พอดแคสต์ (Podcasts) คือ สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการฟังในลักษณะการให้ความรู้หรือเล่าเรื่องราวเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์การฟังรูปแบบ โดยมักจะเป็นตอนๆ (Episode: EP.) ตามหัวข้อที่ผู้พูดต้องการเผยแพร่หรือให้ความรู้ออกไป ถือเป็นคอนเทนต์ (content) ชนิดหนึ่งที่เป็นเสียง มีรูปแบบคล้ายการฟังวิทยุ แต่แตกต่างที่รูปแบบการใช้งาน เช่น การฟังพอดแคสต์สามารถเลือกฟังตอนใดตอนหนึ่งได้หรือช่องที่สนใจได้ รวมถึงปรับความเร็ว/ช้าของการพูดและบันทึกไว้ฟังได้ด้วย ต่างจากการฟังวิทยุที่ต้องหมุนเปลี่ยนคลื่นวิทยุที่อยู่ในลักษณะการสุ่มฟังว่าจะเจอคลื่นใดที่สนใจตามสัญญาณในแต่ละพื้นที่

ตัวอย่างพอดแคสต์ของไทยที่ติดอันดับรวมถึงมีคนฟังเยอะ เช่น คำนี้ดี ช่องที่พูดเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ, NOPADOL’S STORY, The Secret Sauce พอดแคสต์ที่ว่าด้วยการถอดรหัสความสำเร็จของแบรนด์ไทยและแบรนด์ดังระดับโลก เป็นต้น

แน่นอนว่าการเกิดกระแสในการฟังพอดแคสต์ที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยรูปแบบการโฆษณาบนเสียงที่บันทึกและเผยแพร่นั้นด้วย เกิดเป็นในลักษณะ Advertorial Content แฝงโฆษณาสินค้าหรือบริการอยู่เช่นกัน โดยบางช่อง (Channel) อาจจะมีเว็บไซต์สำหรับสรุปข้อมูลจากการพูดรวมถึงชี้ช่องทางการซื้อสินค้าในบทความนั้นๆ สามารถเพิ่มโอกาสให้ผู้ฟังเข้าไปอ่านและฟังอีกด้วย


6.เทรนด์ E-Commerce ของไทย

เทรนด์กลุ่มธุรกิจที่เติบโตในการขายออนไลน์ ได้แก่ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ เติบโตขึ้นถึง 22%, ของเล่น, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า ตามลำดับ และรูปแบบการชำระเงินของผู้ใช้/ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ มักจะเป็นบัตรเครดิต (Credit-Card), E-Wallet, และการโอนเงินตามลำดับ

ส่วนของการจัดอันดับการใช้งานแอพพลิเคชั่น E-Commerce บนมือถือหรือสมาร์ทโฟน ยังคงเป็น LAZADA และ Shopee ที่ไล่เลี่ยกันมา เป็นโอกาสสำหรับนักขายสินค้าออนไลน์ด้วย Affiliate Link อย่างยิ่ง ด้วยเทรนด์การใช้แอพพลิเคชั่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการซื้อสินค้าประเภทที่เติบโตใน E-Commerce คุณจึงสามารถโปรโมทเพื่อขายสินค้า เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ได้อีกด้วย


สรุปเทรนด์การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising)

เทรนด์และการทำการตลาดออนไลน์ล้วนมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน แต่อย่างไรก็ตามเทรนด์เป็นเพียงกระแสที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานหรือเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น มูลค่าตลาด Digital Marketing ที่เติบโตสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท (894 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ) โดยการทำการตลาดออนไลน์ในการโฆษณาที่เป็นที่นิยมอย่างที่สุดยังคงเป็นรูปแบบ Paid Search อย่าง Google Ads รวมถึงเป็นการโฆษณาที่ส่วนใหญ่ทุ่มเม็ดเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นโซเชียลมีเดีย และ Video Ads ตามลำดับ

ส่วนของการปรับใช้รูปแบบสำหรับการโฆษณาประเภทใดใน Affiliate Marketing มักจะขึ้นอยู่กับการเลือกตัวสินค้าที่ต้องการโปรโมทว่า เป้าหมายของการโฆษณา คืออะไร เพราะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้คนเห็นเป็นจำนวนมาก, ให้คนซื้อ, ให้คนสมัคร หรือให้คนรับรู้แบรนด์ของคุณ การวิเคราะห์เป้าหมายคือสิ่งสำคัญในการทำโฆษณา ดังนั้นการอาศัยเทรนด์จึงเป็นเพียงส่วนเสริมว่าจะเพิ่มยอดขายด้วยสินค้าใดเท่านั้น

สุดท้ายจึงขอสรุปไว้ว่า เทรนด์เป็นเพียงกระแสที่น่าสนใจและเหมาะกับการมาใช้ในธุรกิจออนไลน์ รวมถึงการโฆษณา แต่การวางแผนเป้าหมายของโปรโมทหรือโฆษณาสินค้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการทำการตลาดออนไลน์ในยุค Digital Marketing นี้

 


References: ข้อมูลอ้างอิงตัวเลขจาก We Are Social และ Hootsuite