แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหดตัว ธปท.หั่นอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 %

ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2563 กนง.ได้มีการแถลงผลการประชุมในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น โดยในที่ประชุม คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งในการตัดสินนโยบายนี้ มีการประเมินไว้ดังนี้
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าการคาดการณ์
  • ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้
  • เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

สรุปการประชุม ดังนี้

  • กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้

  • การประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ จะช่วยลดผลกระทบได้เช่นกัน

  • กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว

  • คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

  • การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด รวมถึงอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด

  • ในส่วนของมาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป

  • สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาด ตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

  • ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง

  • ด้านสินเชื่อขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง แต่ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ มีการปรับลดลง หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว

  • อัตราแลกเปลี่ยนนั้นถือว่า เงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และเงินสกุลภูมิภาค
  • ในส่วนของระบบสถาบันการเงินนั้นมีเสถียรภาพ และธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง

แต่อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯ จะทำการติดตามเรื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น


ข้อมูลสรุปจากประกาศ  ​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 27/2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย