อัพเดทเช็คลิสต์ที่สำคัญ สำหรับการทำ Google Ads

รวมเทคนิคและขั้นตอนในการทำ Google Ads เบื้องต้นที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน

เทคนิคเบื้องต้นสำหรับการยิง Google Ads

เมื่อพูดถึง Google Ads แน่นอนว่าหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือหากคุณทำงานอยู่ในสายงานด้านการตลาด คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้จัก เพราะถือว่าเป็น 1 ในเครื่องมือหลักที่ทรงพลังเพื่อใช้ในการทำการตลาดออนไลน์เลยก็ว่าได้ ที่พูดได้แบบนี้เพราะตัว Google เองนั้นเรียกได้ว่า ณ นาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่ใช้งาน แค่เฉพาะในประเทศไทยเรานั้น มีผู้ใช้งานกว่า 99% เข้าไปแล้ว หลักๆคงไม่พ้นการเข้าไปหาข้อมูล นึกอะไรไม่ออก คิดคำตอบของคำถามนั้นๆ ไม่ได้ ยังไงก็ต้องมาพึ่งอากู๋ หรือ Google นั่นเอง ดังนั้นการได้โฆษณาบนเครือข่ายของ Google ผู้ให้บริการ Search Engine ที่ครองใจผู้ใช้งานทั้งในและทั่วโลก จึงเป็นอะไรที่มีความครอบคลุมและโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานนั้นก็สามารถคาดการณ์เป็นตัวเลขได้คร่าวๆตามตัวเลขผู้ใช้งานเลย

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ เมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมากเข้ามาใช้งาน การจะทำโฆษณาออกไปบนเครือข่ายนี้ก็คงจะเป็นอะไรที่ครอบคลุมมากที่สุด เพราะถ้าพูดตามจริง คงมีเหลืออยู่เพียง 1% ที่โฆษณาของเราจะส่งไปไม่ถึง จะพูดว่าเป็นยุคแห่งการแข่งขัน ใครเร็ว ใครไว ใครใหม่ ใครได้ก็คงพูดได้ เพราะฉะนั้นหากตอนนี้เรามองเห็นโอกาส เห็นลูกค้าที่รอเราอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ เราจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่จำนวนมากแบบนี้อย่างไรให้ได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ช่วงของการเริ่มต้นนั้นเป็นอะไรที่สำคัญ เพราะหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ขาดแบบแผน แนวทางในการดำเนินงาน การจะไปถึงเป้าหมายก็อาจจะใช้เวลานานเกินไปจนเราพลาดโอกาสสำคัญๆ จะดีกว่าไหมหากเรามี Guide Line เพื่อให้การเริ่มต้นลงมือทำนั้นมีแบบแผนและแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ณ ตอนนี้หลายคนที่สามารถใช้งาน Google Ads กันได้อย่างชำนาญการ อาจจะบอกว่ารู้ครบหมดเรียบร้อยแล้ว แต่ก็แน่นอนว่าบางคนอาจจะเพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นวันนี้เรามาลองตรวจดูเช็คลิสต์ที่สำคัญกันดีกว่า  ว่าถ้าหากจะเริ่มต้นยิงโฆษณากับ Google Ads นั้น มีอะไรบ้างที่ต้องรู้ หากใครที่ทำโฆษณาอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากให้พลาดนะ เพราะอาจมีบางข้อ หรือบางเคล็ดลับที่คุณยังไม่รู้ แต่เรากำลังจะบอกคุณที่นี่!

 

1. เป้าหมายแคมเปญ (Goal)

สิ่งแรกก่อนเลย ก่อนเริ่มต้นทำอะไรใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้การทำโฆษณาออนไลน์นั้นได้ผลลัพธ์ตามที่คุณต้องการ คุณจำเป็นจะระบุให้ได้ก่อนว่า สิ่งทีคุณต้องการจากการทำโฆษณาในครั้งนี้นั้นคืออะไร นั่นคือคุณจำเป็นจะต้องตั้งค่าเป้าหมาย (Goal) ให้ถูกต้องตรงตามสิ่งที่ต้องการที่สุด เช่นว่า คุณอาจต้องการเพิ่มยอดขาย (Sales), ต้องการลูกค้าที่มีความสนใจในธุรกิจผลิตภัณฑ์ของคุณ (Lead), เพิ่มยอดการเข้าชมเว็บไซต์ (Traffic), เพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) หรือแม้แต่การโปรโมทแอพพลิเคชั่น Google Ads มีวิธีง่ายๆที่จะช่วยทำให้เป้าหมายที่คุณตั้งไว้สำเร็จได้ ในขั้นตอนเริ่มแรกของการตั้งค่าแคมเปญโฆษณานั้น คุณจะสามารถเลือก เป้าหมายแคมเปญ(Goal) ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจของคุณได้ เมื่อเลือกแล้วจากนั้นในขั้นต่อไป Google Ads จะช่วยแนะนำต่อว่าประเภทแคมเปญไหนที่จะเหมาะสมที่สุดต่อการโฆษณาตามเป้าหมายนั้นๆที่คุณได้เลือกไว้ แต่หากว่าสิ่งที่แนะนำยังไม่ตรงตามสิ่งที่คุณต้องการ แน่นอนว่าคุณสามารถเลือกประเภทแคมเปญโฆษณาตามที่คุณต้องการด้วยตนเองได้เช่นกัน

 

2. ประเภทแคมเปญโฆษณา

หลังจากที่เรามีเป้าหมายในการเริ่มต้นทำโฆษณาแล้ว สิ่งถัดมาที่คุณจำเป็นต้องทราบก็คือประเภทของแคมเปญโฆษณาที่คุณต้องการส่งออกไปหาลูกค้านั้น คือรูปแบบโฆษณาประเภทไหน ซึ่ง Google Ads มีให้คุณเลือกอยู่ทั้งหมด ตามรายละเอียดนี้:

  • แคมเปญในเครือข่ายการค้นหา (Search Campaign) > หากเลือกแคมเปญนี้ โฆษณาของคุณจะแสดงผลบนในรูปแบบข้อความบนหน้าเครือข่ายการค้นหาของ Google และโฆษณาจะทำการแสดงผลก็ต่อเมื่อผู้ใช้(ลูกค้าของเรา)มีการค้นหาด้วยคำที่เกี่ยวข้องหรือที่เราเรียกว่า “คีย์เวิร์ด” ซึ่งแน่นอนว่าจะตรงเป็นคำค้นหาที่ตรงกันกับ คีย์เวิร์ดที่เราได้ทำการกำหนดไว้เท่านั้น
  • แคมเปญบนเครือข่ายดิสเพลย์ (Display Campaign)> หากเลือกแคมเปญนี้ โฆษณาของคุณจะแสดงผลในรูปแบบรูปภาพพร้อมกับข้อความได้ในขณะที่ผู้ใช้งานหรือลูกค้าของเราเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ, เปิดดูวิดีโอ Youtube, เช็คอีเมล์ Gmail หรือใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ปเพื่อเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ
  • แคมเปญวิดีโอ (Video Campaign) > สำหรับแคมเปญประเภทนี้ ตามชื่อเลยคือโฆษณาของคุณจะแสดงผลในรูปแบบวิดีโอบนเครือข่ายของ Google นั่นคือ Youtube และรวมถึงทั่วทั้งเครือข่ายดิสเพลย์ของ Google ด้วยเช่นเดียวกัน
  • แคมเปญช้อปปิ้ง (Shopping Campaign) > สำหรับแคมเปญประเภทนี้นั้นอาจมีความสลับซับซ้อนขึ้ยมาอีกหนึ่งขั้น เนื่องจากข้อแรกคือเว็บไซต์ของคุณจะต้องเป็นเว็บไซต์ E-Commerce พูดง่ายๆว่าเมื่อลูกค้าเข้าไปในเว็บไซต์แล้วจะต้องสามารถทำการสั่งซื้อสินค้าได้สำเร็จจากบนหน้าเว็บฯ ถึงจะต้องตามข้อกำหนดในการเริ่มต้นใช้งานแคมเปญประเภทนี้ สำหรับแคมเปญประเภท Shopping โฆษณาของคุณจะถูกแสดงผลในรูปแบบข้อความพร้อมรูปภาพบนแท็บ Shopping ตำแหน่งบนสุดหน้าการค้นหาของ Google และ Google Image ทั้งนี้ยังครอบคลุมถึงเครือข่ายดิสเพลย์ ซึ่งประกอบไปด้วย Youtube, Gmail และ Google Discover
  • แคมเปญแอพฯ (App Campaign)> สำหรับแคมเปญนี้ โฆษณาของคุณจะมีสิทธิ์แสดงผลในผลิตภัณฑ์ต่างๆของ Google ซึ่งครอบคลุมไปถึง Google Search, Google Play, Youtube, เครือข่ายดิสเพลย์ Admob, Discover รวมผู้เผยแพร่โฆษณารายอื่นๆที่เป็นโฮสต์

หากดูแล้วยังเลือกไม่ได้เพราะมีตัวเลือกเยอะเกินไป เราขอสรุปแบบสั้นๆง่ายๆดังนี้ :

สำหรับแคมเปญในเครือข่ายการค้นหา (Search Campaign) > เป็นไอเดียที่ดีหากคุณต้องการให้ลูกค้าเห็นธุรกิจ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ บนผลการค้นหาหน้าแรกหน้าแรกของ Google เมื่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานกำลังทำการค้นคีย์เวิร์ดใดๆก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ(ตามที่คุณได้ตั้งค่าไว้)
ในส่วนของแคมเปญเครือข่ายดิสเพลย์ (Display Campaign) และ แคมเปญวิดีโอ (Video Campaign) > จะเป็นการเน้น Brand awareness การเข้าถึงกลุ่มลุกค้าในวงกว้าง เพื่อการรับรู้และจดจำแบรนด์ของเราได้
แต่หากเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บขายสินค้าออนไลน์ แคมเปญช้อปปิ้ง (Shopping Campaign) นี่แหละถึงตอบโจทย์สุด! และสุดท้ายคุณต้องการให้ลูกค้าดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น หรือทำการสั่งซื้อใดๆบนแอพฯของคุณ แน่นอนว่าต้องเป็น แคมเปญแอพฯ (App Campaign) เท่านั้น!

 

3. งบประมาณ

เมื่อคุณสามารถกำหนดประเภทโฆษณาได้แล้ว สิ่งถัดมาที่คุณจะต้องคิดต่อเลยก็คือ งบประมาณที่คุณพึงจ่ายรายวัน/รายเดือน คุณสามารถตั้งค่าค่าใช้จ่ายเป็นแบบรายวันตามที่คุณต้องการจ่ายได้ ซึ่ง ณ ตรงนี้ควรเป็นยอดที่คุณมั่นใจว่าคุณสามารถจ่ายได้ไหวจริงๆสะดวกต่อคุณที่สุด เมื่อคุณตั้งยอดงบประมาณรายวันได้แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ควรทราบเป็นข้อมูลเพิ่มเติม นั่นคือ ในการทำงานของตัวแคมเปญโฆษณาในบางครั้งอาจมีบ้างที่งบประมาณรายวันอาจถูกใช้เกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ โดยสูงสุดจะอยู่ที่ 2 เท่าของงบรายวันที่ตั้งวัน หรือในบางครั้งก็อาจถูกใช้ไปไม่ถึงตามยอดที่กำหนด เพราะการแสดงผลของโฆษณาก็ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้ใช้งานในแต่ละวันด้วย ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ระบบจะใช้เป็นตัวชี้วัดเพื่อทำการจัดสรรการแสดงผลโฆษณาของคุณให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลายคนอาจะเริ่มรู้สึกกังวล แต่แน่นอนว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ หากคุณตองการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นตามที่ต้องการแบบเป๊ะๆ เราก็มีวิธีอยู่ คือ ให้เริ่มจากการตั้งงบประมาณออกมาเป็นงบรายเดือนที่คุณพึงจ่ายตามจริงก่อน จากนั้นใช้สูตรการคิดคำนวณนี้ (งบประมาณรายเดือน/30.4) ยอดที่ได้ออกมา ให้คุณนำไปกำหนดใช้เป็นงบประมาณรายวัน เพียงเท่านี้ไม่ว่าในแต่ละวันงบประมาณจะถูกใช้ไปเท่าไหร่ แต่รับรองเลยว่าในท้ายที่สุด ยอดของแต่ละเดือนที่ต้องจ่ายจริงนั้น ก็จะไม่เกินไปจากงบประมาณรายเดือนที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

 

4. กลยุทธ์การเสนอราคา

คุณอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในแต่แคมเปญ สำหรับบางแคมเปญคุณอาจต้องการเน้นการรับรู้ถึงแบรนด์(Brand Awareness) หรือ จำนวนการมองเห็น(Impression)แต่สำหรับบางแคมเปญคุณอาจต้องการเพิ่มยอดการเข้าชมเว็บไซต์ (Traffic) กลยุทธ์การเสนอราคานี้จะเป็นตัวที่ช่วยทำให้แคมเปญของคุณเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของคุณในการทำโฆษณานั้นคืออะไรได้ดียิ่งขึ้น เช่น หากคุณเน้นการรับรู้ถึงแบรนด์ คุณอาจเลือกใช้งานแคมเปญเครือข่ายดิสเพลย์ พร้อมตั้งค่ากลยุทธ์การเสนอราคาเป็น “การเสนอราคาแบบราคาต่อการแสดงผลที่ได้แสดงพันครั้ง” (vCPM) หรือหากคุณเน้นปริมาณ Traffic การเข้าถึงเว็บไซต์ คุณอาจะเลือกใช้งานแคมเปญเครือข่ายการค้นหา พร้อมตั้งค่ากลยุทธ์การเสนอราคาเป็น “การเพิ่มจำนวนคลิกสูงสุด” เป็นต้น

 

5. เนื้อหาโฆษณา รูปภาพ สื่อต่างๆ

เมื่อคุณได้มีการตั้งค่าแคมเปญเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว แต่แค่นั้นก็ยังไม่จบนะ เพราะอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ โฆษณา เปรียบเทียบว่าหากนี่เป็นบ้านก็เหมือนคุณตั้งค่ารากฐานทุกอย่างมาดีแต่งานตกแต่ง ดีไซน์ต่างๆไม่สวยก็คือจบเลย เราอยากมั่นใจว่าคุณได้ใช้เวลากับส่วนนี้มากพอในระดับนึง ยกตัวอย่างเริ่มที่ แคมเปญเครือข่ายการค้นหา (Search Campaign) ในส่วนของโฆษณา หัวใจหลักคือคีย์เวิร์ดที่คุณเลือกใช้ กับชุดคำโฆษณาที่จะแสดงผลออกไปนั้นต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยง เช่น หากคุณต้องการขายเสื้อผ้าราคาส่ง คีย์เวิร์ดที่ใช้งานควรมีคำว่า ราคาส่ง ประกอบอยู่ด้วย รวมถึงข้อความโฆษณาก็ควรมีคำหรือข้อความใดๆตามที่สามารถสื่อถึงผลิตภัณฑ์ หรือบริการของเราได้อย่างชัดเจนเห็นภาพที่สุด เช่น ร้าน AA ขายเสื้อผ้าแฟชั่นราคาส่ง เพราะหากเราไม่ระบุให้ชัดเจน ลูกค้าที่เราได้มาอาจเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะมีความเป็นไปได้ที่เราอาจได้เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องหลักในการซื้อเสื้อผ้าราคาปลีกแทน และในกรณีของแคมเปญเครือข่ายดิสเพลย์ (Display Campaign) เพราะแคมเปญประเภทนี้สิ่งที่จะแสดงผลออกเป็น หลักๆแล้วจะเป็นรูปภาพ เพราะฉะนั้น รวมถึงงานดีไซน์ต่างๆจึงสำคัญมาก หากรูปภาพที่ใช้ไม่น่าสนใจ ไม่เตะตา ไม่สามารถดึงดูดใจลูกค้าได้มากพอ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือเราอาจจะไม่เห็นการโต้ตอบของลูกค้าเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุดในขณะที่คุณสร้างรูปภาพ หรือวิดีโอโฆษณา คือคุณภาพที่ละเอียดคมชัด สะดุดตา น่าสนใจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะดู จดจำ รับรู้ รวมถึงมีการโต้ตอบ โดยการกดคลิกเข้ามาที่โฆษณาของเรา

 

6. กลุ่ม(ลูกค้า)เป้าหมาย

ใครกันนะที่เป็นลูกค้าของเรา นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหากเรายังไม่ทราบกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง หรือไม่แม้จะสามารถระบุได้คร่าวๆว่าลูกค้าของเราคือใคร นี่คงเป็นงานยากของเจ้าโฆษณาที่เรายิงออกไปอย่างแน่นอน ประหนึ่งงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว เริ่มกันง่ายๆด้วยหลักการ Who What When Where นั่นคือ ใครที่คุณต้องการให้เห็น, บนอุปกรณ์อะไรที่เราต้องการให้โฆษณาไปแสดงผล(โทรศัพท์ แท็ปแล็ป คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ทีวี), เมื่อไหร่ที่เราต้องการให้โฆษณาแสดงผลและ เราต้องการให้โฆษณาไปแสดงผลที่ไหน หากคุณสามารถกำหนดได้หมดแล้ว แค่เพียงตั้งค่าตามเป้าหมายนี้ ก็เป็นอันเรียบร้อย เริ่มต้นส่งโฆษณาออกไปหาลูกค้าได้เลยทันที เย้!

หากใครที่อ่านหมดครบถ้วนทั้ง 5 ข้อ เราก็อยากขอแถมอีก 1 เคล็ดลับนี้ให้เพื่อความสมบูรณ์แบบในการทำโฆษณายิ่งขึ้น นั่นคือ Google Analaytics อีก 1 เครื่องมือ แถม! ใช่แล้ว มันเป็นเครื่องมือ ฟรี! หากคุณมีเว็บไซต์ และถึงแม้จะยังไม่ได้ใช้ Google Ads ก็สามารถสมัครใช้งานได้นะ

 

Google Analytics

Google Analytic เบื้องต้น
ถึงแม้ว่า Google Ads จะสามารถทำการรายงานผลลัพธ์ผู้ใช้งานที่สามารถเห็นโฆษณาของคุณได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อการรู้ผลลัพธ์ที่ละเอียดยิ่งขึ้น ถึงพฤติกรรมของลูกค้าของเรา เราสามารถทำการเปิดใช้งาน Google analytics ได้ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งานเว็บไซต์เรามากขึ้น เช่น ลูกค้าเราทำอะไรบ้างบนเว็บไซต์ อยู่บนเว็บเรานานกี่นาที ลูกค้าของเราเข้ามาจากช่องทางไหน และลูกค้าของเราออกไปจากหน้าเว็บตอนนาทีที่เท่าไหร่ ใช้งานหน้าเว็บสุดท้ายของเราหน้าไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณมีไอเดียในการปรับปรุงประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานของโฆษณา หรือธุรกิจของคุณเอง เพื่อทำให้การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณเป็นไปได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

มาถึงตอนนี้เราหวังว่านี่จะเป็นลิสต์ตัวช่วยง่ายๆที่ทำให้คุณสามารถเริ่มต้นการทำโฆษณา Google Ads ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่โปรดจำไว้ว่าคุณจำเป็นที่จะต้องตรวจวัดผลโฆษณาของคุณอย่างน้อยๆในทุกๆสัปดาห์เพื่อการปรับปรุง พัฒนาประสิทธิาพอยู่เสมอ เพราะแน่นอนว่าการทำโฆษณานั้นคือการลองผิดลองถูก ไม่มีสูตรที่ตายตัวว่าทำแบบไหนคือดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องทดลอง เพื่อหาสูตรลับที่เหมาะกับธุรกิจของตัวเอง แล้วมาเริ่มต้นหาสูตรเด็ดเฉพาะตัว Signature strategy ของธุรกิจคุณไปด้วยกัน!

เรียบเรียงโดย: ณัฐชา | Saleduck.co.th

แสดงความคิดเห็นของคุณ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *