สรุปประเด็น "เหมืองทองอัครา" รัฐบาลไทยต้องจ่ายเท่าไหร่?

คดี เหมืองทองอัครา

  • จากกระแสเทรนด์ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ค ที่มีการพูดถึงคดี “เหมืองทองอัครา” ที่มีเอกสารตั้งงบประมาณของปี 2564 ค่าใช้จ่ายเพื่อสู้คดีหลุดออกมา ในประเด็นเหมืองทองอัคราที่ถูกปิดตัวลงเพราะคำสั่งคสช. เมื่อปี 2559 โดยคาดว่ารัฐบาลไทยจะต้องจ่ายเงินสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาทให้บริษัทเหมืองแร่เอกชนจากประเทศออสเตรเลีย เป็นเพราะเหตุใด วันนี้เราจะมาสรุปประเด็นสำคัญให้ได้อ่านเป็นความรู้กัน

สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากคดีเหมืองทองอัครา

  • ในปี พ.ศ. 2543 บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากประเทศออสเตรเลียได้สิทธิสัมปทานทำเหมืองทองบริเวณรอยต่อของ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ เป็นจำนวน 5 แปลง มีพื้นที่รวม 1,259 ไร่ ซึ่งในประเทศไทยดำเนินการขุดเหมืองโดย บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด (บริษัทลูกของคิงส์เกท)

  • อีก 7 ปีต่อมา (ปี 2550) มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเหมืองทอง ซึ่งได้ออกมาร้องเรียนต่อรัฐบาลว่าไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้ เพราะมีการปนเปื้อนจากโลหะหนัก และชาวบ้านในชุมชนล้มป่วยกันเป็นจำนวนมาก

  • ในปี 2551 ภาครัฐได้ลงไปตรวจสอบ ในระหว่างนั้นอัคราไมนิ่งก็ได้รับสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีเหนือ ในบริเวณจังหวัดพิจิตรอีก 9 แปลง รวม 2,446 ไร่ ซึ่งสัมปทานยาวถึง 20 ปี

  • ในปี 2557 มีการรายงานผลตรวจเลือดของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองทองคำ ว่าพบสารแมงกานีสและไซยาไนต์อยู่ในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

  • ต่อมาในปี 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้สุ่มตรวจร่างกายของชาวบ้าน พบว่ามีโลหะหนักภายในร่างกาย จึงมีการออกคำสั่งให้ อัคราไมนิ่ง หยุดทำกิจการ 30 วัน ทางอัคราไมนิ่ง จึงทำการปรับปรุงเรื่องการปล่อยโลหะหนัก ต่อมา กพร.ได้มีการจ้าง บริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบที่เหมืองชาตรี แต่ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหล

  • การเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ โดยมีกลุ่มชาวบ้านที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมือง และฝ่ายที่ต่อต้าน จนวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ด้วยคำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยเป็นการใช้มาตรา 44 ในการระงับข้อขัดแย้ง

เกิดอะไรขึ้นจากการสั่งหยุดกิจการเหมือง?

  • เมื่อถูกระงับกิจการไม่ให้ทำเหมือง ทำให้อัคราไมนิ่งได้ปลดพนักงานทั้งหมด 715 คน และจะหยุดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มกราคม 2560
  • แต่อย่างไรก็ตามก็มีกลุ่มพนักงานและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเหมือง จำนวนกว่า 5,000 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ว่าการมีอยู่ของเหมืองไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบแต่อย่างใด

  • จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกท ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

  • ในเดือนมีนาคม 2562 มีข่าวลือว่าทางรัฐบาลไทยยอมจ่ายเพื่อจบคดีนี้ แต่คดียังมีการยืดเยื้อมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 สิงหาคม 2563) ได้มีประเด็นเรื่องเอกสารงบประมาณในปี 2564 ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัทคิงส์เกท คอนโซลิเตเต็ต ลิมิเต็ด เป็นจำนวนเงินกว่า 111 ล้านบาท

  • ซึ่งกระบวนการสืบสวนของคดีเหมืองทองนี้ จะเริ่มต้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่จะถึงนี้ ดังนั้นหลายคนที่ติดตามข่าวนี้ ควรรอติดตามบทสรุปในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า

แสดงความคิดเห็นของคุณ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *