ราคาน้ำมันปิดตลาดติดลบ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ราคาน้ำมันทรุดถึง 55 ดอลล์ ปิดตลาดติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่ออวานนี้ (วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563) สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส สำหรับส่งมอบเดือนพฤษภาคม ที่มีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ และหมดอายุในวันอังคาร (21 เมษายน 2563) ราคาลดลงถึง 55.90 ดอลลาร์ และปิดที่ -37.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือว่าเป็นการติดลบสูงสุดในประวัติศาสตร์และเป็นราคาต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2526

ในส่วนของราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มิเดียต (WTI) ของสหรัฐฯในตลาดนิวยอร์กวันจันทร์ ลดลงเกือบ 40% เหลือแค่ราว 11 ดอลลาร์/บาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 22 ปี เหตุนี้เกิดจากนักลงทุนมีความกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบล้นสต็อก เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกลดลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19


สรุปการปิดตลาดวันจันทร์ ดังนี้

  • การปิดตลาดวันจันทร์ในครั้งนี้ ถือว่าราคาน้ำมันดิบทรุดตัวลงอย่างหนัก

  • สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลงถึง 55.90 ดอลลาร์ และปิดที่ -37.63 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มิเดียต (WTI) ณ เวลา 18.45 น. (เวลาไทย) ลดลง 6.73 เซนต์ หรือ 36.49% ปิดที่ 11.71 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ณ เวลา 18.45 น. (เวลาไทย) ลดลง 1.78 ดอลลาร์  ปิดที่ 26.52 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • ปิดตลาดในแดนลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การค้าน้ำมันเวสต์เท็กซัส

  • ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่คลังเก็บน้ำมันของสหรัฐกำลังกักน้ำมันใกล้จะเต็มความจุ ท่ามกลางภาวะน้ำมันล้นตลาด แต่สต็อกน้ำมันสหรัฐสูงสุดในประวัติการณ์

  • สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 4.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 20.03 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 2.51 ดอลลาร์ ปิดที่ 25.57 ดอลลาร์/บาร์เรล


แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า วิกฤตโควิด-19 จะกระทบทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง 29 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเมษายน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี เนื่องจากหลายประเทศออกมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงน้ำมันลดลง

ด้านบริษัทวานิชธนกิจของสหรัฐฯ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงร่วงลงต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากสต็อกน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC และ OPEC Plus ได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน) เพื่อลดอุปทานน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา