ซื้อพันธบัตรรัฐบาล "เราไม่ทิ้งกัน" อย่างไร มาดูกัน!

ข้อมูลเกี่ยวกับพันธบัตรรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน”

พันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ออกโดยกระทรวงการคลัง วงเงินรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี ซึ่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุด 2 ล้านบาท จุดประสงค์ของการออกพันธบัตรนี้ก็เพื่อระดมทุนและนำไปบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท


ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากการผันผวนทางเศรษฐกิจ พันธบัตรนี้ได้ออกมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย (การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายทุกวันที่ 14 พฤษภาคม และ 14 พฤษจิกายน ของทุกปี ดังนั้น งวดแรกจ่ายวันที่ 14 พฤษจิกายน 2563) โดยอัตราดอกเบี้ยจะมีการคิดแบบขั้นบันได มีดังนี้

  • รหัสพันธบัตร SBST255A อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 5 ปี
    • ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี
    • ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี
    • ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี
    • ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี
      #อัตราดอกเบื้ยเฉลี่ย 2.4% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 14 พฤษภาคม 2568


  • รหัสพันธบัตร SBST305A อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 10 ปี
    • ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี
    • ปีที่ 4-8 อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี
    • ปีที่ 9 อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี
    • ปีที่ 10 อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี
      #อัตราดอกเบื้ยเฉลี่ย 3.00% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 14 พฤษภาคม 2573


ข้อควรรู้ก่อนซื้อพันธบัตรรัฐบาล

  • กระทรวงการคลังออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน และเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคมของปีถัดไป

  • การซื้อพันธบัตรถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะเงินต้นอยู่ครบและสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ช่วยกระจายความเสี่ยง

  • การซื้อเพื่อการลงทุนเริ่มตั้งแต่ 1,000 บาท และสามารถใช้เป็นหลักประกันแทน ทรัพย์สิน กับหน่วยงานราชการ และองค์กรของรัฐบาลได้

  • การขายคืนหรือโอนสิทธิ์พันธบัตร สามารถขายพันธบัตรออมทรัพย์ก่อนครบกำหนดอายุ ได้ที่ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทุกแห่ง และสามารถโอนกรรมสิทธิ์และเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้อีกด้วย

  • คนที่สามารถซื้อพันธบัตรนี้ได้ คือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

  • การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “เราไม่ทิ้งกัน” จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
    • ช่วงที่ 1 วันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องมีอายุ 60 ปี (ผู้สูงอายุ) เกิดก่อนหรือภายในปี พ.ศ. 2503 ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

    • ช่วงที่ 2 วันที่ 21-27 พฤษภาคม 2563 ประชาชนทั่วไป (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

    • ช่วงที่ 3 วันที่ 28 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2563 ประชาชนทั่วไป (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) และผู้มีสิทธิซื้อ ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่จำกัดวงเงิน เปิดจำหน่ายจนกว่าจะจำหน่ายครบวงเงิน

  • ช่องทางการจำหน่ายพันธบัตร

    1. จำหน่ายผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
      • iOS ดาวน์โหลดได้ที่ AppStore
      • Androind ดาวน์โหลดได้ที่ GooglePlay
      • เมื่อทำการซื้อในแอพฯเสร็จสิ้นแล้ว สามารถชำระเงินได้ผ่าน 2 ช่องทางดังต่อไปนี้
        • ชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
        • ชำระเงินได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT
      • โดยลูกค้าใหม่สามารถรับสมุด Bond Book ที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่ชำระเงิน ส่วนลูกค้าที่มีสมุด Bond Book อยู่แล้ว สามารถอัปเดตหลังการชำระเงินได้ทันที

    2. ธนาคารกรุงไทย สามารถจองซื้อผ่านช่องทางดังนี้
      • ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
      • ตู้ ATM, Krungthai NEXT
        โดยผู้ที่ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT จะต้องลงทะเบียน หรือจองซื้อพันธบัตรแบบไร้ใบพันธบัตรผ่านเคาน์เตอร์ทุกรุ่นอย่างน้อย 1 ครั้งกับธนาคารก่อน จึงจะสามารถทำรายการผ่าน Krungthai NEXT ได้
      • แอปพลิเคชัน BOND DIRECT

    3. ธนาคารกสิกรไทย สามารถจองซื้อผ่านช่องทาง ดังนี้
      • สาขาธนาคารกสิกรไทย
      • ช่องทาง ATM
      • ช่องทางเว็บไซต์ K-My Invest (โดยไม่ต้องไปธนาคาร) ได้ที่เว็บไซต์ kasikornbank.com/kmyinvest
      • เมื่อทำการซื้อพันธบัตรเรียบร้อย สามารถชำระค่าจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS มีข้อกำหนดดังนี้
        • ผู้ซื้อจะต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
        • ต้องสมัครใช้งาน K PLUS เกินกว่า 3 วัน
        • เบอร์โทรศัพท์ที่รับ OTP ต้องเป็นเบอร์ที่ผูกกับบริการ K PLUS เท่านั้น
        • การจองซื้อจะสำเร็จทันทีที่ชำระเงิน โดยการหักบัญชีผ่านบริการ K PLUS โดยลูกค้าจะได้รับการแจ้งผลสำเร็จของการทำรายการจากธนาคาร และธนาคารจะส่งสมุดพันธบัตรทางไปรษณีย์ไม่เกิน 15 วันทำการจากวันที่จองซื้อ

    4. ธนาคารกรุงเทพ จองซื้อได้ที่ช่องทาง ดังนี้
      • ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา
      • บัวหลวง M-Banking
      • บัวหลวง i-banking
      • บัวหลวง ATM
      • โดยมีข้อกำหนดเบื้องต้น ดังนี้
        • ผู้ซื้อจะต้องลงทะเบียนก่อนการซื้อ ซึ่งธนาคารเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียน เพื่อขอมีเลขที่สำหรับผู้ถือพันธบัตรได้ที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา
        • สำหรับลูกค้าที่เคยลงทะเบียน เพื่อซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง แบบไร้ใบตราสาร กับธนาคารกรุงเทพไว้แล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ สามารถใช้เลขที่ผู้ถือพันธบัตรเดิมซื้อพันธบัตรรุ่นนี้ได้

    5. ธนาคารไทยพาณิชย์
      • จองซื้อพันธบัตร หรือขอเปิดบัญชีพันธบัตร ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา
      • ผู้ที่มีเลขที่บัญชีพันธบัตรอยู่แล้ว สามารถซื้อพันธบัตรได้ที่แอปพลิเคชัน SCB Easy
        • เมนู “การลงทุน” เลือก “ซื้อพันธบัตร”
      • สามารถซื้อพันธบัตรได้ที่ SCB EasyNet ผ่านเว็บไซต์ scbeasy.com
        • เลือก “พันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร” และทำการจองซื้อได้เลย