สั่งฟันโกงเราเที่ยวด้วยกัน โรงแรม ร้านค้า และ ผู้ใช้สิทธิ
โครงการเราเที่ยวด้วยกัน พบพฤติกรรมและธุรกรรมที่น่าสงสัย 514 แห่ง แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ โรงแรม 312 แห่ง ที่มีการโกงค่าห้อง, ร้านค้า และ ร้านอาหารอีก 202 แห่ง ที่โกงเงินค่าส่วนต่าง E-Coupon จากการตรวจสอบล่าสุด ได้มีการสั่งฟ้องอาญา-แพ่ง พร้อมยึดใบอนุญาตประกอบการแล้ว แถมยังขึ้น Black List ไม่ให้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลได้อีก ทางด้านผู้ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แต่ได้ออกมารับปากว่าจะทำการไล่บี้สอบสวนให้เสร็จภายใน 1 เดือน พร้อมกับประกาศเลื่อนการจองอีก 1 ล้านห้องที่เพิ่มขึ้น จนกว่าจะมีมาตรการมาอุดรูรั่วได้
จากการประชุมของผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่สภาอุตสหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. และ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน. รวมไปถึงกระทรวงการคลัง และ ธนาคารกรุงไทย ได้มีการหารือและ วิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐบาลร่วมจ่ายให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และร้านค้าที่รับชำระผ่าน E-Coupon ซึ่งทางรัฐบาลมอบให้กับผู้จองห้องพัก ได้นำไปใช้จ่ายในวันหยุดวันละ 600 บาท และวันธรรมดา วันละ 900 บาท พอว่ามีกรณีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตเป็นขบวนการ ระหว่างผู้ได้รับสิทธิ และ ผู้ประกอบการโรงแรม และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยพบว่ามีพฤติกรรมและธุรกรรมที่น่าสงสัย ทำการทุจริตรวมกว่า 514 แห่ง แห่งออกเป็นโรงแรม 312 แห่งและร้านค้าอีก 202 แห่ง ซึ่งทั้งหมดมีรายชื่อหมดแล้ว จะทำการเปิดเผยรายชื่อให้ทราบทั้งหมดภายหลังจากที่มีการสอบสวนเสร็จ โดยยืนยันว่าจะทำการดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่ง และ อาญา
เราเที่ยวด้วยกันพบรูปแบบพฤติกรรมที่น่าสงสัยมี 6 รูปแบบ
- การเข้าเช็คอินโรงแรมราคาถูก แต่ไม่มีการเข้าพักจริง ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในการได้รับสิทธิ E-Coupon ที่รัฐมอบให้ไปใช้จ่าย
- โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องสูงเกินจริง และ ยังรู้เห็นกับร้านอาหาร หรือร้านค้าที่รับชำระคูปอง และมีการขายสิทธิกัน โดยกระทำโดยร่วมมือระหว่างผู้ได้รับสิทธิ และ โรงแรม โดยการส่งเลขบัตรประชาชน 4 หลักสุดท้าย และ เบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถใช้รับรหัส OTP ยืนยันเพื่อโอนสิทธิได้
- โรงแรมที่ปิดตัวไปแล้ว และยังไม่ได้กลับมาเปิดตามปกติ แต่มีการลงทะเบียนตามปกติ และทำการขายห้องพักเหมือนกลับมาเปิดเป็นปกติแล้ว ซึ่งกรณีนี้มีการตรวจพบทั้งการจองผ่านโรงแรมโดยตรง และการจองผ่านช่องทางตัวแทนออนไลน์ OTA อีกด้วย
- การใช้ส่วนต่างของ E-Coupon เพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวน ในกรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหารที่แท้จริง
- มีการเข้าพักจริง แต่เข้าพักในรูปแบบเหมา โดยตั้งราคาห้องพักในระดับที่สูงกว่าความเป็นจริง และรับเงินส่วนต่างที่ตกลงกันเอาไว้ระหว่างโรงแรมกับผู้เข้าพัก ส่วนใหญจะเป็นกรณีที่จองโดยตรงกับทางโรงแรม
- โรงแรมที่เปิดขายห้องพักเกินจำนวนจริงที่มี ยกตัวอย่างเช่น ห้องพักจริงมี 50 ห้อง แต่ขาย 200 ห้องเป็นต้น ซึ่งจำนวนห้องที่เกินมาจะนำไปขายต่อให้กับโรงแรมอื่น เพื่อรับประโยชน์จากเงินส่วนต่าง
ทางผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ออกมาระบุอีกด้วยว่า โรงแรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมที่ต้องสงสัยมีประมาณ 312 ราย และมีผู้ใช้สิทธิรวมกว่า 108,962 ราย และรา้นค้า 202 รายมีผู้ใช้สิทธิ 49,713 สิทธิ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะทำการตรวจสอบกรณีที่ต้องสงสัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 3 แบบ ด้วยได้
- มีการจองเข้าพัก และทำการจ่ายเงินแล้ว หากพบว่ามีการทุจริตต่อโครงการ จะดำเนินคดีอย่างหนักทั้งทางแพ่ง และทางอาญา
- จองห้องพักแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าห้องพัก และชำระเงิน จะให้ระงับการจ่ายเงินสำหรับธุรกรรมที่น่าสงสัยเอาไว้ก่อน โดยจะประสานงานกับทางกระทรวงการคลัง และ ธนาคารกรุงไทย ผู้ทำระบบ
- จองแล้วแต่ไม่ได้เช็คอิน และยังไม่ได้ชำระเงิน จะมีการตรวจสอบต่อไป โดยยืนยันว่าขณะนี้มีแนวทางในการตรวจสอบที่ชัดเจน และ มีทิศทางในการดำเนินการกับผู้ทุจริตอย่างหนัก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และ กีฬา ได้กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการขั้นเด็ดขาด และใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทรัพย์สินของภาครัฐ กับกลุ่มคนที่ทำการทุจริต หรือฉ้อโกงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพราะถือว่าเป็นการทุจริตเงินของภาครัฐ ส่วนการกระทำครั้งนี้ จะเป็นการฮั้วกันระหว่างโรงแรม, ร้านอาหาร, และ นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ได้รับสิทธิท่องเที่ยวหรือไม่นั้น หากมีหลักฐานว่ากระทำผิดจะต้องโดยฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และ ทางอาญา และจะถูกยึดใบอนุญาตประกอบการ และที่สำคัญที่สุดคือโดยแบล็กลิสต์ ไม่ให้เข้าร่วมโครงการของรัฐอีกในอนาคต