ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สรุป 9 สาระสำคัญที่นี่!

ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้

  • วันนี้ (8 กรกฎาคม 2563) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยมีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

  • ซึ่งไม่เมื่อสองวันที่ผ่านมา ได้มีกระแสการพูดคุยกันบนโลกออนไลน์อย่าง Twitter ที่มีการรณรงค์ติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม เพื่อรณรงค์การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. โดยมีจุดประสงค์คือการให้สิทธิแก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ให้สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรสได้ และในไทยยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อสิทธิมนุษยชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมอีกด้วย

สรุป 9 สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ดังนี้

  1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

  2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

  3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

  4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

  5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรค 1) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

  6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

  7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

  8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

  9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

  1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
  2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”
  3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

    กรณีที่มากไปกว่านั้น ครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. รวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว


  • รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

  • ร่างพ.ร.บ คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมสิทธิ ดังนี้
    • การจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต
    • สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต
    • การจัดการทรัพย์สิน
    • การรับบุตรบุญธรรมและมรดก

  • ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย ส่วนสิทธิอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่มีเท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย-หญิง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการประเมินผลเพื่อพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับบริบทต่างๆต่อไป รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย


ข้อมูลอ้างอิงจาก: Facebook Page: รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล

แสดงความคิดเห็นของคุณ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *