เดือนนี้ "ค่าไฟแพง" เป็นเพราะอะไร?

 ประเด็นค่าไฟแพง

เมื่อวานนี้ (19 เมษายน 2563) หลายคนที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย อาจจะได้เห็นกระแสเทรนด์ที่มาแรงอย่างแฮชแท็ก #ค่าไฟแพง ใน Twitter ที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยหลายคนมีการโพสต์บิลค่าไฟฟ้าเปรียบเทียบระหว่างเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและเดือนนี้ (เมษายน) ที่เรียกว่าค่าไฟพุ่งขึ้นมาเป็น 1-3 เท่าของค่าไฟปกติ ก่อนหน้าที่มีมาตรการนโยบายของรัฐที่มีการลดค่าไฟฟ้า 3 % ที่ออกมา แต่เดือนนี้กลับค่าไฟสูงขึ้นผิดปกติ หลายคนสงสัยว่าการที่ค่าไฟแพงเป็นเพราะเหตุใด จึงมีการเรียกกร้องให้รัฐบาลและการไฟฟ้า ชี้แจงเหตุผลของค่าไฟเดือนเมษายนนี้ด้วย


โดยเบื้องต้นมีเพจบน Facebook ชื่อว่า โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า ได้ออกมาแจ้งว่าที่ค่าไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้นเป็นเพราะอะไร มีดังนี้

  1. ทางการไฟฟ้าจะมีการคิดเงินค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้า โดยหากใช้ไฟเยอะก็จะจ่ายเยอะ
  2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น คือ การใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามันก้าวกระโดดตามไปด้วย
  3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ? ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์รึเปล่า ?
    คำตอบคือ ไฟฟ้าไม่ได้ทำอะไรกับมิเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้ามีพนักงานแผนกมิเตอร์จำนวน 7 คน ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหลักแสนราย และบ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมากจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้

    • แอร์พร้อมคอมเพรสเซอร์แอร์: เปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 – 12.00 น. เย็นเท่าเดิม แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไว อยู่ที่คอมเพรสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก มิเตอร์จึงวิ่งไวขึ้น
    • เครื่องฟอกอากาศ: แทบทุกยี่ห้อกินไฟ กรณีเปิดพร้อมกับแอร์ มิเตอร์จะคูณกำลัง 2 ไปเลย
    • ตู้เย็น: หน้าที่ของตู้เย็นคือต้องทำความเย็นในช่องแช่อาหาร ตามอุณหภูมิที่เรากำหนด คอมเพรสเซอร์หลังตู้เย็นเป็นตัวทำงาน ถ้าเปิดตู้เย็นบ่อยๆจะเปลืองไฟ เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณหภูมิตอนเปิด และกรณีแช่ของแบบยัดเข้าไปก็เปลืองไฟด้วย ต้องจัดระเบียบตู้เย็นให้เรียบร้อย และตู้เย็นที่ประหยัดไฟนั้นน้อยมาก ตู้เย็นที่ประหยัดไฟจริงๆ คือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา
    • พัดลมไอน้ำ

รมว.พลังงานเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีค่าไฟแพง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเรียกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือในวันนี้ (20 เมษายน 2563) โดยได้เชิญปลัดกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือแนวทางมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเดิม

ซึ่งทางผู้ว่าการไฟฟ้าได้ออกมาแจ้งให้ทราบว่า สามารถแจ้งให้สำนักการไฟฟ้าในพื้นที่ ให้ทำการตรวจสอบได้ว่าเกิดจากการใช้ไฟที่มากขึ้นหรือมีความผิดพลาดตรงจุดอื่นหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดจากไฟฟ้ารั่วหรือความผิดปกติของมิเตอร์ไฟฟ้า ถ้าตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาดจากที่กล่าวมา การไฟฟ้าจะชดเชยเงินส่วนเกินให้ อย่างไรก็ต้องพิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังประกอบการพิจารณาด้วย