มาตรการ ‘ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 3%’ เยียวยาผลกระทบโควิด-19
ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดถึงมาตรการเงินคืนประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ในมาตรการการช่วยเยียวยาและบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค คือ ค่าไฟฟ้า-ค่าประปา ให้แก่ประชาชนอีกด้วย
มาตรการเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า 3 ส่วน
- การลดค่าไฟฟ้า 3% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 ใช้งบประมาณ 5,160 ล้านบาท โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการลดค่าไฟฟ้า 3% และพิจารณาใช้เงินคืนรายได้เพื่อให้การไฟฟ้าแต่ละพื้นที่
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 3,560 ล้านบาท
- การขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเฉพาะ เช่น โรงแรม และกิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยจะไม่คิดดอกเบี้ย ในช่วงที่ขยายเวลาการชำระค่าไฟนี้ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน ในแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม โดยจะไม่มีการงดจ่ายไฟชั่วคราว โดยผู้ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่
- การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) ให้แก่บ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (อ่านเพิ่มเติม: วิธีการขอรับเงินคืน ‘ประกันมิเตอร์ไฟฟ้า’ ) ซึ่งมีผู้ได้รับการคืนเงินในส่วนนี้ 22.17 ล้านราย วงเงิน 32,700 ล้านบาท
-
- ผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 3.87 ล้านราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท
- ผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 18.3 ล้านราย วงเงิน 19,700 ล้านบาท
มาตรการเกี่ยวกับค่าน้ำประปา 3 ส่วนเช่นกัน
- การลดค่าน้ำประปา 3% สำหรับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 ใช้งบราว 330 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์ 30,900 ราย แบ่งเป็นในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) 900 ราย และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 30,000 ราย
- การขยายเวลาการชำระค่าน้ำประปา ให้แก่ผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนเป็นธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยจะไม่คิดดอกเบี้ยในช่วงที่ขยายเวลาการชำระค่าน้ำประปา สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือนในแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าน้ำประปา
- คืนเงินประกันการใช้น้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำประปาประเภทที่ 1 คือ ที่พักอาศัย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ 5.7 ล้านราย วงเงินประมาณ 2,834 ล้านบาท แบ่งเป็นของการประปานครหลวง (กปน.) 2 ล้านราย วงเงิน 1,034 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 3.7 ล้านราย วงเงิน 1,800 ล้านบาท